Saturday, January 20, 2007

สุนทรียศาสตร์ในศิลปศาสตร์

[จากเวบหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ตะวันตก-ตะวันออก
โดย สาโรจน์ มณีรัตน์]




...สุนทรียศาสตร์ในศิลปศาสตร์...


เป็นที่ยอมรับว่า หากผู้ใดเคยผ่านการเรียนศิลปศาสตร์มาก่อนย่อมได้เปรียบ เพราะศิลปศาสตร์ไม่เพียงเกี่ยวเนื่องกับมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

หากยังเกี่ยวข้องและเกี่ยวเนื่องกับสุนทรียศาสตร์ด้วย

ในประเทศแถบโลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา มีมหาวิทยาลัยเก่าแก่หลายแห่งที่ให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรีเรียนศิลปศาสตร์ก่อนอย่างน้อยเป็นเวลา 2 ปี

ก่อนที่จะแยกสาขาไปเรียนในสิ่งที่ตัวเองสนใจ

ฉะนั้น ตลอดระยะเวลา 2 ปี ที่เขาเรียนศิลปศาสตร์ จึงค่อนข้างครอบคลุมที่จะทำให้เขามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น

เพราะศิลปศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านั้น แยกย่อยให้นักศึกษาเลือกเรียนในแต่ละกลุ่มสาขา ซึ่งมีกลุ่มสาขามนุษยศาสตร์ที่เรียนเกี่ยวกับคุณภาพของความเป็นมนุษย์ อันประกอบไปด้วยสาขาวิชาภาษา วรรณคดี ปรัชญา ศาสนา ศิลปะ และดนตรี

ขณะที่กลุ่มสาขาสังคมศาสตร์จะให้ความรู้เกี่ยวกับสังคมและพฤติกรรมทางสังคมที่ประกอบไปด้วยสาขาวิชาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา และมนุษยวิทยา

แต่สำหรับกลุ่มสาขาวิทยาศาสตร์จะมีสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ซึ่งมีสาขารองที่เรียนเกี่ยวกับดาราศาสตร์และธรณีวิทยารับอีกที

ดังนั้นการเรียนของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกาหลายแห่งจึงค่อนข้างสอนให้นักศึกษามองเห็นลึกเข้าไปในตัวตน ว่าตนเองชอบอะไร ? ไม่ชอบอะไร ?

สนใจวิชาไหน ? และไม่สนใจวิชาไหน ?

เพราะศิลปศาสตร์ในภาษาฝรั่งคือ "Liberal Arts" ที่ไม่เพียงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นศิลปะทุกแขนง หากยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ด้วย

ดังนั้นเมื่อเขาเหล่านั้นผ่านเบ้าหลอมทางรสนิยมศิลปะ ภาษา และวิทยาศาสตร์ ก่อนที่จะไปเรียนในสาขาที่ตนเองชอบจริงๆ เขาเหล่านั้นจึงมองเห็นความเป็นสุนทรียศาสตร์

แถมมีความรู้รอบตัวหลายแขนงด้วย !

ตรงนี้เองที่ทำให้ "ศิลปศาสตร์" หรือ "Liberal Arts" แตกต่างจาก "ศิลปศาสตร์" ในมหาวิทยาลัยของไทยในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าศิลปศาสตร์มีรากฐานมาจากภาษาละตินคือ "artes liberalis"

ซึ่งแปลว่า "pertaining to a free man" อันหมายความว่า ผู้ที่เรียนทางด้านนี้จะต้องเรียนวิชาหลัก 7 อย่างด้วยกันคือ ไวยากรณ์, ตรรกะ, เลขคณิต, เรขาคณิต, ดาราศาสตร์, ดนตรี และการพูด

ซึ่ง "สุจิตต์ วงษ์เทศ" เรียกความรู้ดังกล่าวนี้ว่า "knowledge" หรือ "องค์ความรู้" ที่จะต้องเรียนตั้งแต่ยุทธศาสตร์, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, ภูมิศาสตร์,เทวศาสตร์, นาฏยศาสตร์, ดุริยางคศาสตร์, โหราศาสตร์ และอื่นๆ

ทั้งนั้นเพราะศิลปศาสตร์มีความหมายเดียวกับคำว่า "สิบปะ" หรือช่างสิบหมู่ในปัจจุบันนี่เอง

ดังจะเห็นว่า ไม่ว่าโลกตะวันตก หรือโลกตะวันออก ต่อการคิดเรื่อง "ศิลปศาสตร์" นั้นมีมุมมองคล้ายๆ กัน แต่ที่แตกต่างคงเป็นรายละเอียดที่ทำให้เห็นว่าวัฒนธรรมประเพณี นั้นเป็นเส้นแบ่ง ที่ทำให้โลกทั้ง 2 ด้าน มองศิลปศาสตร์ในแง่มุมที่ต่างกัน

โลกตะวันตกอาจมองแบบรื่นรมย์ใน เงาคิด

โลกตะวันออกอาจมองความคิดบนความรื่นรมย์

แต่ทั้งนั้น ไม่ว่าโลกตะวันตก ตะวันออกจะมองอย่างไร เพราะปัจจุบันการเรียนศิลปศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัยของไทยกลับไม่สอนให้ผู้เรียนเกิดความคิดบนความรื่นรมย์

หรือรื่นรมย์ในเงาคิดเลย

ตรงข้ามกลับสอนให้นิสิต นักศึกษาเรียนแบบขอไปที เรียนแบบไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า หากคุณมีศิลปศาสตร์ในหัวใจ คุณจะได้ประโยชน์อันใดบ้างต่อการเรียนสาขานี้

อย่างน้อยก็เข้าใจในความเป็นมนุษย์ อย่างน้อยก็เข้าใจราก และวิธีคิดเชิงปรัชญา หรืออย่างน้อยก็ทำให้คุณดูหนัง ฟังเพลง หรือเสพรสนิยมทางศิลปะ ดนตรี วรรณกรรมอย่างรู้ราก รู้ที่มาที่ไป หรือรู้ด้วยว่าคนไทยมาจากไหน

เพราะศิลปศาสตร์ในความหมายจริงนั้น เป็นศาสตร์ที่ครอบคลุมทุกแขนง ดังนั้นหาก ผู้เรียนมีพื้นฐานทางศิลปศาสตร์ เขาและเธอเหล่านั้นจะต่อยอดไปเรียนในระดับปริญญาโท หรือเอกได้อย่างเข้าใจ

ไม่ใช่เรียนไปเพื่อต้องการปริญญา

หรือเรียนไปเพื่ออวดโฉม หรือชุบตัว เพื่อให้คนอื่นๆ ภูมิใจว่าผม ฉัน หรือเธอจบการศึกษาในระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก

จนมีคำนำหน้าว่าเป็นด็อกเตอร์ แต่ไม่รู้อะไรบ้างเลย ?

เพราะฉะนั้น ในเรื่องของศิลปศาสตร์จึงเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งที่การศึกษาไทยในยุคปัจจุบันจะต้องให้ความตระหนักอย่างมาก

และอย่าไปคิดว่า "ศิลปศาสตร์" ควรที่จะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความชำนาญทางภาษาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ผู้เรียนไม่มีความรอบด้านและไม่มีความรอบรู้

เพราะตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา นับจากเรียนวิชาพื้นฐานในปี 1 พอเริ่มปี 2 เขาก็แยกเอกเพื่อไปเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ไม่ว่าจะเป็นเอกภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เกาหลี หรือจีน อะไรก็ตาม

ทั้งนั้นเพื่อหวังเพียงว่า เมื่อเรียนจบออกไปแล้ว จะต้องไปทำงานยังบริษัทฝรั่ง จีน หรือญี่ปุ่น เนื่องเพราะบริษัทเหล่านั้นให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี

แต่เขาและเธอคงลืมไปแล้วว่า แม้จะมีเงินเดือนดีขนาดไหน แต่เมื่อถึงที่สุดในจุดหนึ่ง ในจุดที่คุณต้องขึ้นมาสู่ระดับบริหารและจัดการ คุณจะต้องเข้าใจวัฒนธรรมองค์กร

เข้าใจมนุษย์

และเข้าใจด้วยว่าจะบริหารจัดการ ทรัพยากรมนุษย์เหล่านั้นอย่างไร ที่จะทำให้เขามีความสุขต่อการทำงาน

มีโอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ หรือมีเงินเดือนและสวัสดิการเป็นที่น่าพอใจ

เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกซ่อนอยู่ในการเรียนศิลปศาสตร์ทั้งสิ้น ซึ่งไม่นับรวมรสนิยมอีกเป็นจำนวนมากที่จะทำให้เขาและเธอกลายเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์

ดังนั้นคุณูปการต่อการเรียนศิลปศาสตร์จึงไม่ได้อยู่แค่ในระบบการศึกษาเท่านั้น หากผสมปนเปเข้าไปในวิถีของมนุษย์ด้วย

มนุษย์ที่มีรสนิยม

มนุษย์ที่มองเห็นความงามของมนุษย์ด้วยกัน

จนทำให้ศิลปศาสตร์กลายเป็นความงามทางสุนทรียศาสตร์ที่ดำรงคงอยู่มาจนทุกวันนี้

ทุกวันที่โลกกำลังบิดเบี้ยวขึ้นทุกวัน ?