Thursday, May 19, 2011

"คุณค่า" และ "ธรรมชาติ"

สัตว์ที่อยู่ในกรง คุณค่าของมันหายไปทันที
อย่างเช่น นกปรอดหัวโขน คุณค่าของมันคือเป็นนักปลูกป่าที่ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะมันกินผลไม้หลากหลาย
เวลาป่าถูกทำลายเกิดเป็นทุ่งโล่ง มันจะบินไปบินมาระหว่างพืชพันธุ์ แล้วออกมาที่โล่ง ถ่ายมูลที่มีเมล็ด ทำให้เกิดการปลูกป่า
แต่การจับมาร้องในกรงแล้วตีราคา ว่าแต่ละตัวราคาเท่าไร นี่ไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริง มันเป็นคุณค่าจอมปลอม
ส่วนหนึ่งจากบทสัมภาษณ์ นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์
จากหนังสือ a day ฉบับที่ 128




"คุณค่า" ...เคยคิดกันไหมว่า เรามองคุณค่าของอะไรสักอย่างกันอย่างไร?
หลายๆ ครั้ง เรามองโดยเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน เป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าของอะไรสักอย่าง
หลายๆ ครั้ง เรามองโดยเอาประโยชน์ที่มีต่อตัวเราเป็นที่ตั้ง
หลายๆ ครั้ง เราลืมไปว่า คุณค่าที่แท้จริงของมันคืออะไร

พระพุทธเจ้าสอนให้มองสรรพสิ่งในโลกอย่างเป็นกลาง (ที่คงเป็นความหมายที่แท้จริงของ"ทางสายกลาง" - อันนี้ผมคิดเองเออเอง)
เป็นกลางในความหมายที่ว่า ให้มองและเห็นไปตามที่มันเกิดขึ้นจริงและเป็นไปเพียงเท่านั้น อย่าได้เอาอคติจากตัวเราไปเคลือบสิ่งที่เกิดขึ้น

...นกร้องก็คือนกร้อง เสียงนกร้องก็คือเสียงนกร้อง
อคติในใจเราต่างหากที่บอกว่าเสียงนั้นเพราะ เสียงนั้นงาม ...นั่นหาใช่คุณค่าที่แท้จริงของเสียงนกร้องไม่
คุณค่าที่แท้จริงของเสียงร้องอาจเป็นการสื่อสาร การเรียกหาคู่ ฯลฯ ไม่ใช่"ความไพเราะ"ที่เราสมมติขึ้นและใช้มันตีค่าราคาของนกตัวนั้น
ตัวเราเองทั้งนั้นที่มัวเมาอยู่กับอคติในตัวเราเอง และเป็นต้นตอของการทำลาย"ธรรมชาติ"...

..."ธรรมชาติ"ทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อม
และ"ธรรมชาติ"ในแง่ของความจริงแท้ของโลก